วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552





อัญมณีไทยกับความเข้าใจ

(Thai Jewelry understanding)

ความรู้ด้านพลอยเบื้องต้น
ความหมายของรัตนชาติหรืออัญมณี

ในทางอัญมณีศาสตร์ อัญมณี หมายถึง แร่ หิน หรืออินทรียวัตถุ ที่ใช้ตกแต่งเป็นเครื่องประดับได้โดยมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ความสวยงาม (Beauty) ความคงทน (Durability) และความหายาก (Rarity)

การแบ่งกลุ่มอัญมณีตามการกำเนิด สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่คือ
1. สารอนินทรีย์ (Inorganic Gems) หมายถึง อัญมณีที่ได้จาก แร่ (Mineral) และหิน (Rock) ซึ่ง เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
2. สารอินทรีย์ (Organic Gems) หมายถึง อัญมณีที่ได้จากสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ มีความสวยงามและคงทนมากพอที่มนุษย์จะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องประดับได้ เช่น ไข่มุก (Pearl) ปะการัง (Coral) อำพันและงาช้าง เป็นต้น

การแบ่งกลุ่มอัญมณีตามมูลค่า แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. พลอยมีค่า (Precious stone) หรือ คนไทยส่วนใหญ่เรียกว่า “ พลอยเนื้อแข็ง” ได้แก่ ทับทิม ไพลิน ในบางแห่งจะรวมถึงเพชร มรกต และคริสโซแบริล
2. พลอยกึ่งมีค่า (Semi- Precious stone) หรือคนไทยส่วนใหญ่เรียกว่า “ พลอยเนื้ออ่อน” หมายถึง พลอยอื่นๆนอกเหนือจากทับทิมและไพลิน ยกเว้นเพชร ได้แก่ เพริดอต (Peridot) แอเมทิสต์ (Amethyst) และซิทริน (Citrine) เป็นต้น

การจัดแบ่งกลุ่มแร่ หรืออัญมณีได้จัดหมวดหมู่ของอัญมณีเป็นกลุ่ม ประเภท และชนิด โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- กลุ่ม คืออัญมณีประเภทต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิดทางด้านส่วนประกอบทางเคมี และโครงสร้างผลึก เช่น กลุ่มเฟลด์สปาร์ (Feldspar group) กลุ่มการ์เน็ต (Garnet group) เป็นต้น
- ประเภท (Species) คือ อัญมณีที่มีส่วนประกอบทางเคมีที่แน่นอน ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในวงจำกัด และปกติจะมีลักษณะเฉพาะของโครงสร้างผลึก อัญมณีแต่ละประเภทจะมีสมบัติต่างๆเป็นลักษณะเฉพาะตัว เช่น เพชร คอรันดัม และคริสโซเบริล เป็นต้น
- ชนิด (Varieties) คือ อัญมณีในแต่ละประเภท ที่มีสมบัติ หรือส่วนประกอบทางเคมีแปรเปลี่ยนแตกต่งกันเล็กน้อย โดยปกติจะแตกต่างกันเรื่องสี (Color) ความโปร่งใส (Transparency) หรือปรากฏการณ์ เช่น ทับทิม และแซปไฟร์ ต่างเป็นอัญมณีประเภทคอรันดัม ซึ่งทั้งสองมีความแตกต่างของสีแต่โครงสร้างผลึก องค์ประกอบเคมีพื้นฐาน และสมบัติอื่นๆใกล้เคียงกัน เป็นต้น

คุณสมบัติของอัญมณีประกอบไปด้วย

1.ความโปร่งแสง (Transparency)

คือ คุณสมบัติของพลอยในการย้อมให้แสงผ่าน แบ่งออกเป็น 5 ลักษณะดังนี้
1.1 โปร่งใส (Transparency) คือ การที่แสงผ่านเข้าไปในตัวพลอยได้ดี จนสามารถเห็นวัตถุที่อยู่หลังพลอยได้อย่างชัดเจน
1.2 กึ่งโปรงใส (Semi-Transparency) คือ การที่แสงผ่านเข้าไปในตัวพลอยได้ จนสามารถเห็นวัตถุที่อยู่หลังพลอยได้แต่ไม่ชัดเจน
1.3 โปร่งแสง(Transparency) คือ การที่แสงผ่านเข้าไปในตัวพลอยได้ แต่ไม่สามารถเห็นวัตถุที่อยู่หลังพลอย
1.4 กึ่งโปร่งแสง (Semi-Transparency) คือการที่แสงผ่านเข้าไปในตัวพลอยได้น้อยมาก จะเห็นแสงผ่านเฉพาะที่ขอบพลอยเท่านั้น

1.5 ทึบแสง (Opaque) คือ การที่แสงไม่สามรถผ่านเข้าไปในตัวพลอยได้เลย


2.การกระจายแสง (Dispersion)
คือการที่แสงกระจายเป็นสีรุ้งเมื่อผ่านพลอยจะเห็นได้ชัดในพลอยที่ใสไม่มีสี และพลอยที่มีสีอ่อน

3.ความวาว (Luster)
คือ คุณภาพและปริมาณของแสงที่สะท้อนจากพลอยมาเข้าตา โดยลักษณะของความวาวแบ่งออกเป็นดังนี้
3.1 วาวแบบโลหะ(Metallic luster) เป็นความวาวที่สูงมากเหมือนผิวโลหะ เช่น ฮีมาไทต์ เป็นต้น

3.2 วาวแบบเพชร(Adamantine luster) เป็นความวาวที่สูงเหมือนเพชร เช่น เพชร และเซอร์คอน เป็นต้น

.3 วาวแบบแก้ว(Vitreous luster) เป็นความวาวที่พบในพลอยทั่วไป เช่น ทับทิม ไพลิน มรกต ซิทริน เป็นต้น

3.4 วาวแบบน้ำมันเคลือบ(Greasy luster) ผิวพลอยเหมือนเคลือบด้วยน้ำมัน เช่น หยกและลาปิสลาซูลี เป็นต้น

3.5 วาวแบบยางสน (Resinous luster) มองดูเหมือนยาง เช่น อำพัน เป็นต้น

3.6 วาวแบบขี้ผึ้ง (Waxy) มองดูเหมือนขี้ผึ้งเทียนไข เช่น เทอร์ควอยส์ เป็นต้น

3.7 วาวแบบใยไหม (Silky luster) มองดูคล้ายใยไหม เช่น พลอยตาเสือ (Tiger’s eye)เป็นต้น

3.8 วาวแบบด้าน (Dull) เป็นความวาวที่ไม่มีการสะท้อนของแสง เช่นเทอร์ควอยส์ที่ไม่ได้เจียร เป็นต้น


4.ปรากฏการณ์
หมายถึง ลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นเนื่อมาจากเนื้อของพลอย เกิดขึ้นกับพลอยบางชนิดปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายในพลอยมีดังนี้
4.1 ปรากฏการณ์สตาร์หรือสาแหรก (Star or Asterism)มีลักษณะเป็นเส้น 4 แฉก หรือ 6 แฉก เกิดขึ้นที่พลอยเมื่อพลอยโดนแสงเช่น พลอยสตาร์ทับทิม เป็นต้น
4.2 ปรากฏการณ์ตาแมว (Cat’s eye or chiromancy) มีลักษณะคล้ายสตาร์ แต่เกิดเส้นเพียงเส้นเดียว เช่น พลอยคริสโซแบริลตาแมว (CE)เป็นต้น
4.3 ปรากฏการณ์อะเวนจูเรสเซนต์ (Aventurescence) มีลักษณะเป็นระยิบระยับ เช่น ซันสโตน เป็นต้น
4.4 ปรากฏการณ์การเปลี่ยนสี (Color Change) เช่น พลอยอเล็กซานไดรต์จะมีสีเขียวในแสงสีขาวและมีสีแดงในแสงสีส้ม
4.5 ปรากฏการณ์เล่นสี (Play of color) พบในพลอยโอปอลมีลักษณะเป็นหย่อมสีต่างๆ กันหลายสีเกิดขึ้นเมื่อพลอยโดนแสง
4.6 ปรากฏการณ์แลบบราโดเรสเซนส์ (Labradorescence) พบในพลอยแลบบราโดไรต์ มีลักษณะเป็นแผ่นสีฟ้า-เขียวเหลือบไปมาบนผิว
4.7 ปรากฏการณ์อะดูลาเรสเซนส์ (Adularescence)พบในพลอยมูนสโตนมีลักษณะเป็นแผ่นสีขาวหรือสีฟ้าเหลือบไปมาบนผิว
4.8 ปรากฏการณ์โอเรียนท์ (Orient) มีลักษณะเป็นสีรุ้งๆ ที่ผิว เช่น มุก และเปลือกหอยมุก เป็นต้น

5.ความแข็ง (Har dness)
คือ ความทนทานในการขูดขีดของพลอย โดยพลอยที่แข็งกว่าจะสามารถขูดขีดพลอยที่อ่อนกว่าเป็นรอย

ชื่อแร่ ค่าความแข็ง
ทัลก์ (Talc) 1
ยิบซั่ม (Gypsum) 2
แคลไชท์ (Calcite) 3
ฟลูออไรต์ (Fluorite) 4
อะพาไทต์ (Apatite) 5
ออร์โธเคลส (Orthoclase) 6
ควอทซ์ (Quartz) 7
โทพาส (Topaz) 8
คอรันดัม (Corundum) 9
เพชร (Diamond) 10


6. ความเหนียว(Toughness) คือความทนทานต่อการแตก บิ่น หัก และกะเทาะของพลอย




บุษราคัม

บุษราคัม เป็นพลอยแซปไฟร์ที่เป็นที่นิยมเช่นกัน หากสีสวย มีประกายแวววาวดี ใสสะอาดไร้มลทิน (โดยปกติบุษราคัม จัดเป็นแซปไฟร์ ที่มีมลทินน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับไพลิน และทับทิม) ก็จะมีราคาสูงเท่าๆ กับไพลิน หรืออาจสูงกว่า เสียอีก เนื่องจากค่อนข้างจะหาสวยได้ยากกว่าไพลิน สีที่สวยของบุษราคัม คือ สีเหลืองสดใส ไม่มีสีน้ำตาล ส้ม เขียวปน มีโทนสีมืด - สว่างปานกลาง ความเข้ม ของสีเหลืองไม่อ่อนมาก ส่วนใหญ่พลอยบุษราคัมจากจันทบุรี มักจะมีสีน้ำตาลปน ทำให้ได้พลอยสีเหลือง เหล้าแม่โขง ซึ่งเป็นสีที่นิยมในหมู่คนไทย จึงทำให้ มีราคาแพง สำหรับพลอยบุษราคัมสีเหลืองอมส้ม มักจะพลอยจากศรีลังกา โดยได้จาก การนำพลอยก้อนสีขาวขุ่นมีจุดเหลืองมาเผา จนได้พลอยใสสีเหลืองอมส้ม บางที ก็อมน้ำตาล บางทีก็ได้สีเหลืองทอง ซึ่งราคาแพงเหมือนกัน นอกจากนี้ ยังมีพลอยบุษราคัมศรีลังกา ส่วนที่เผาไม่ออก คือไม่ได้สีเหลืองสวย แต่ได้เป็นสีขาวใส หรือขาวมีเหลืองปนนิดหน่อย ซึ่งมีการนำเอาพลอยส่วนนี้ ไปอาบรังสี เพื่อให้มีสีเข้มขึ้น แต่สีเหล่านี้จะไม่คงทนถาวรวิธีแยกระหว่างพลอยซีลอนเผาออกได้สีเหลืองสวยงาม กับพลอยซีลอนอาบรังสี ทำได้โดยใช้ไฟ 100 วัตต์ ส่องที่พลอย ระยะห่าง ประมาณ 1 นิ้ว เวลาประมาณ 15 นาที ถ้าเป็นพลอยซีลอนเผา สีของพลอยจะเข้มขึ้น เป็นสีน้ำตาลเข้ม และจะกลับเป็นสีเดิม เมื่อปล่อย ให้เย็นลง ส่วนพลอยบุษราคัมสีเหลืองอาบรังสี สีจะจางลงจนซีด แต่ถ้าเป็นพลอยบุษราคัมเผา / ไม่เผา ของจันทบุรี และออสเตรเลีย จะไม่มีผลกระทบเลยนอกจากนี้ ให้ระวังพลอยสังเคราะห์ เพราะจัดว่าตรวจดูยาก เนื่องจากพลอยบุษราคัมแท้ ก็จะไม่ค่อยมีมลทิน เด่นชัด แต่ก็สามารถพลิกค้นหา มลทินได้ ส่วนพลอยบุษราคัมสังเคราะห์ ก็จะใส ไร้มลทิน จะมองเห็นเส้นโค้งซึ่งหายาก อยู่ในเนื้อพลอย แต่เหลี่ยมพลอยจะไม่คมชัด เหมือนของแท้ ดังนั้น ถ้าไม่แน่ใจ ส่งให้ผู้ชำนาญตรวจดูก่อน ราคาของพลอยบุษราคัม ถ้าเป็นพลอยจากจันทบุรีสีสวย ราคาก็จะแพงกว่าพลอยบุษราคัมซีลอนเท่าตัว

ไพลิน


ไพลิน คอรันคัมทุกสี ยกเว้นสีแดง จะเรียกว่าแซปไฟร์ สีต่างๆ ของแซปไฟร์ สามารถ นำมาใช้เรียกเป็นชื่อชนิดอื่นได้ เช่น แซปไฟร์สีเหลือง (บุษราคัม) แซปไฟร์สีเขียว (เขียวส่อง เขียวมรกต) แซปไฟร์สีน้ำเงิน (ไพลิน) แซปไฟร์สีส้มอมชมพู (แพดพาแรดชา) เป็นต้น สีต่างๆ ของแซปไฟร์เกิดจากธาตุชนิดต่างๆ สีน้ำเงินของไพลิน เกิดจากธาตุเหล็ก และไททาเนียม สีของไพลิน ที่ถือว่าสวยงาม ที่สุดคือ สีน้ำเงินเข้มสด และมีสีม่วงอมเล็กน้อย มีความมืดสว่างปานกลาง ไพลินจัดเป็น แซปไฟร์ ที่ได้รับความนิยมมาก ทำให้ค่อนข้างมีราคาสูง รองลงมาเป็นบุษราคัม เขียวส่อง ส่วนชนิดแซปไฟร์สีอื่นๆ จัดเป็นรัตนชาติสำหรับการสะสมก็ว่าได้ แต่ก็หาไม่ได้ง่ายนัก และอาจมีราคาแพงได้เช่นกัน เช่น แพดพาแรดชา แซปไฟร์ สีม่วง สีชมพู เป็นต้น การพิจารณาเลือกซื้อไพลิน1.สีเป็นสิ่งสำคัญ ไพลินที่มีสีสวยที่สุดคือ สีน้ำเงินอมม่วง เล็กน้อย โทนสีไม่มืดมาก ปานกลาง มีเนื้อกำมะหยี่ มีความสุกใส มีประกายแวววาวดี ควรดูความสม่ำเสมอของสีด้วย สีที่ไม่สม่ำเสมอในเนื้อพลอย จะทำให้ราคาตกลง ไพลิน ที่มีโทนสีมืด สีมีความเข้มมากเกินไปจนมองดูดำมืด และไพลินที่มีโทนสีสว่างอ่อนเกินไป จะสวยน้อย และมีราคาไม่แพง ดังนั้น ถ้ามีเงินไม่มากนัก ควรเลือกไพลินโทนสี ค่อนข้างสว่าง ความเข้มของสีกำลังดี เพราะราคาจะถูกลง แถมยังทำให้มองดูสวย ภายใต้แสงไฟ เนื่องจากมีความสุกใสกว่าไพลินที่มีโทนสีมืดคล้ำ แต่อย่าเลือกไพลิน โทนสีสว่างโล่งเกินไป หรือความเข้มของสีน้อยเกินไป เพราะจะมองดูไม่สวยสง่า เหมือนไพลินที่มีความเข้มของสีมากกว่า กล่าวคือให้มีความเข้มของสีน้ำเงินอยู่ และมีโทนสีสว่างบ้าง มิใช่เป็นสีน้ำเงินอ่อน จนเป็นสีฟ้า แถมมีโทนสีสว่างด้วย2.มลทิน ตำหนิ ไพลินที่มีมลทินอยู่ภายในเนื้อ เป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นของธรรมชาติ แต่ต้องดูแยกให้ออก ว่าเป็นมลทินธรรมชาติ หรือมลทินสังเคราะห์ (ทำขึ้น) การดูมลทิน มักจะต้องใช้แว่นขยาย 10 เท่าขึ้นไป หรือกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งผู้ชำนาญเท่านั้น จึงจะสามารถแยกออกจากกันได้ ว่าเป็นมลทิน ธรรมชาติ หรือมลทินสังเคราะห์ ไพลินธรรมชาติที่ใส สะอาดไร้มลทิน จะหาได้ยากมาก3.การเจียระไน เจียระไนโดยให้โต๊ะหน้าพลอย วางตัวในทิศทาง ที่จะให้สีน้ำเงินอมม่วง หรือน้ำเงิน ไม่ใช่น้ำเงินอมเขียว รูปร่างของ หน้าพลอย ถ้าเป็นกลม ก็กลมสวย ไม่เบี้ยว ถ้าเป็นทรงไข่ก็ไข่สวย ไม่บิดเบี้ยว มีความสมมาตร มีขอบพลอยขนาดพอดี และมีขนาดก้นพลอย ไม่ยาว หรือสั้นจนเกินไป และฝีมือประณีตในการเจียระไน จะดูได้จาก ลักษณะเหลี่ยมคม ของแต่ละหน้านั้น มีความคมชัดเรียบสวยงาม ไม่แตก ขรุขระ แต่ละหน้าเหลี่ยมพลอย มีรูปร่างดี ไม่บิดเบี้ยวแตกต่างกัน ความสวยงาม ของไพลินจะลดน้อยลงมาก ถ้าขาดการเจียระไนที่ดี

ทับทิม

เป็นแร่คอรันดัมชนิดหนึ่ง ที่มีสีแดง และมีคุณค่ามีราคาสูง คอรันดัม ประกอบขึ้นด้วยธาตุอะลูมิเนียม และออกซิเจน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในหินหลายชนิด หลายบริเวณทั่วโลก แต่สำหรับผลึกแร่ทับทิมชนิดที่มีความโปร่งใส สีสวยงาม ที่ให้ระดับคุณภาพรัตนชาติ จะหาได้ยากมาก ดังนั้นทับทิมสีสวย คุณภาพชั้นหนึ่ง ก็จะมีราคาสูง ทับทิมจะพบอยู่ในแหล่งสะสมตัว แบบทุติยภูมิ มากกว่าในแหล่ง แบบปฐมภูมิ เนื่องจากหินต้นกำเนิดผุพังสึกกร่อน และผลึกทับทิม ถูกพัดพามาสะสมตัว ในชั้นกะสะ ชั้นกรวดทรายต่างๆ และส่วนมากจะยังคงรูปร่าง ลักษณะของรูปผลึกเดิม อยู่เนื่องจากมีความแข็งสูง (รองจากเพชร) และมีความต้านทาน คงทนต่อปฏิกิริยา ทางเคมีต่างๆ ได้ดี หรืออาจจะพบได้ในลักษณะของกรวดกลมมนก็ได้ ผลึกทับทิม ที่พบในธรรมชาติ มักจะมีผิวด้าน มีความวาวมันเล็กน้อย แต่หลังจากทำการเจียระไน ขัดมันแล้ว จะมีสี และความแวววาวสวยงาม ไม่เป็นรองเพชรเลยการพิจารณาเลือกซื้อทับทิม1.สี เป็นหลักสำคัญ เนื่องจากบุคคลแต่ละคน มีความนิยมชมชอบสีแตกต่างกันไป บ้างชอบสีเข้ม บ้างชอบสีอ่อน บ้างชอบสีสด บ้างชอบสีขรีม บ้างชอบสีหวาน เปรียบเหมือนกับ การเลือกซื้อผ้าตัดเสื้อนั้นแหละ ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน แต่สีของทับทิม ที่จัดว่ามีราคาคุณค่าสูง ก็คือ สีแดงบริสุทธิ์ หรืออาจจะเป็นสีแดงที่มีม่วงปนน้อยมาก และจะต้องเป็นสีแดง ที่มีความเข้มสูงคือ แดงโชติช่วง ต้องไม่เป็นสีแดงคล้ำมองดูดำ ถ้าแดงมีส้มปน ราคาจะตกลง และราคาจะตกลงไปอีก ถ้ามีสีม่วงปนมาก ทับทิมสีที่ราคา ถูกที่สุด คือแดงอมน้ำตาล หรือแดงดำคล้ำ โทนสีของทับทิมที่ดี คือสว่างปานกลาง หรือมืดปานกลาง ไม่ดำมืด หรือสว่างจนเกินไป และมีเข้มของสีแดงสูง ราคาจะลดลง ถ้าสีในทับทิมไม่สม่ำเสมอ2.,มลทิน ตำหนิ จะหาทับทิมที่ใสไร้มลทินเลย ย่อมยาก ส่วนใหญ่แล้วจะมีรอยแตก ร่องรอยขุ่นมัว พร่า ฝ้า และมลทินแร่ชนิดอื่นๆ หรือมลทินของไหลพบอยู่เสมอและอาจจะมองเห็นได้ ด้วยตาเปล่า ถึงแม้ทับทิมที่มองดูใสไร้มลทินด้วยตาเปล่าเมื่อใช้แว่นขยาย 10 เท่าส่องดู ก็จะมองเห็น มลทินเสมอ ทับทิมที่มีมลทินเล็กน้อย แต่สีสวยมาก จะมีราคามากกว่า ทับทิมที่ค่อนข้างใส แต่ไม่สวย3.การเจียระไน มีความสำคัญต่อความสวยงามมาก หากเจียระไนโดยมีส่วนก้นพลอยลึกเกินไป จะทำให้ทับทิมดูมืดทึบ หากก้นพลอยตื้นเกินไป จะทำให้แสงรั่วออก หรือส่องผ่านก้นพลอยขึ้นมา ทำให้ไม่มีน้ำ ไฟ ประกาย การเจียระไนที่ไม่ดี มีผลต่อสี ความแวววาว และราคาอีกด้วย นอกจากนี้ ให้ดูฝีมือการเจียระไนด้วยว่า เรียบร้อยขนาดไหน เหลี่ยมคมชัดหรือไม่ นอกจากนี้ การเจียระไนทับทิม ให้มีสัดส่วนถูกต้อง ยังไม่เพียงพอ ที่จะดึงเอาความสวยงามออกมาให้เห็นเด่นชัดจุดใหญ่ที่จะต้องระวังก็คือ ให้มีการวางตัวของโต๊ะหน้าของพลอยให้ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ได้พลอยสีสวยที่สุด ในทับทิมนั้น มีการหักเหของแสง สองทิศทาง ให้สีต่างกันคือ แดง - ม่วง และ แดง - ส้ม เนื่องจากสีแดง มีม่วงปน เล็กน้อยคือ สีที่ดีที่ต้องการที่สุด ดังนั้น จะต้องเจียระไน ให้ทางด้านหน้า ของทับทิมให้สี แดง - ม่วง ปรากฏ ส่วนสีแดง - ส้มจะปรากฏในทิศทางด้านข้างซึ่งมองไม่เห็น ถ้าทับทิมสีสวย มลทินน้อย ขนาดใหญ่ แต่การเจียระไนไม่ดีก็ควรจะยอมเสียน้ำหนักเจียระไนใหม่ เพราะถึงจะได้ทับทิมเม็ดขนาดเล็กลง แต่ก็จะได้ราคาดีกว่าเม็ดใหญ่ซึ่งไม่สวย จำไว้ว่าความงดงามของทับทิมจะไม่ปรากฏให้เห็นหาก ไม่มีการเจียระไนที่ดี


เขียวส่อง มรกต
มรกต เป็นรัตนชาติอีกชนิดหนึ่ง ที่มีคุณค่าราคาสูง และหาได้ยาก เช่นเดียวกัน กับรัตนชาติ มีค่าสูงอื่น ๆ สีเขียวเข้มสด ของมรกต ยากที่จะหาสีเขียว ของรัตนชาติ อื่นใดเทียบได้ และจะเรียกว่าสีเขียวมรกต มรกตอาจมีความมืด - สว่าง แตกต่างกันไป แต่ไม่ควรมี สีเขียวอ่อน ถ้ามรกตมีสีเขียวอ่อน ก็ไม่ควรจะเรียกว่ามรกต ชนิดที่มีสีเขียวอ่อนนั้น สีเกิดจากธาตุเหล็ก แต่สีเขียวที่เข้มสด ของมรกตเกิดจาก ธาตุโครเมียม หรือวาเนเดียม หรือจากทั้งสองธาตุอยู่ในโครงสร้างของผลึก มรกต คุณภาพดี ชนิดที่มีสีเขียวเข้มสวยสด ไม่มีสีเหลือง หรือสีน้ำเงินปน และปราศจากตำหนิ มลทินใด ๆ อาจจะมีราคาสูงถึงหลายหมื่นบาทต่อกะรัต อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามรกต จะมีคุณภาพดี สีสวยเท่าใด มักจะมีตำหนิมลทินเกิดอยู่ในเนื้อเสมอ ซึ่งเป็นลักษณะ ตามธรรมชาติของมรกต ตำหนิมลทินต่าง ๆ อาจจะมีมากหรือน้อย มองเห็นได้ยาก หรือง่ายก็ได้ และมรกตมักจะมีความเปราะ แตกหักได้ง่าย ไม่คงทนต่อแรงกระเทก ความร้อน หรือสารเคมีต่าง ๆดังนั้น จะต้องระมัดระวังรักษา ดูแลเป็นพิเศษ มรกตเป็นแร่ที่อยู่ในกลุ่มแร่เบริล แต่มีลักษณะกำเนิด ที่แตกต่างจากแร่เบริลชนิดอื่น ๆ มรกต มักจะพบเกิดอยู่ในหินแปร ซึ่งจะมีบริเวณจำกัด ต่อการเกิดของผลึกแร่ จนมีผลต่อขนาด และความหายากของมรกต แต่แร่เบริลโดยทั่วไป มักจะพบเกิดอยู่ในสายแร่เพกมาไทด์ ซึ่งจะให้ผลึกแร่มี่มีขนาดใหญ่กว่า และมีปริมาณมากกว่า มรกต มักจะพบอยู่ในหินต้นกำเนิด หรือแหล่งแบบปฐมภูมิมากกว่า แหล่งแบบลานแร่สะสมตัว เนื่องจากมรกตมีความเปราะนั่นเอง จึงมักจะถูกทำลาย ได้ง่าย ก่อนที่จะถูกพัดพา ไปสะสมตัวในแหล่งไกล ๆการพิจารณาเลือกซื้อมรกต1.สี เป็นหลักสำคัญ เหมือนพลอยชนิดอื่น สีที่ว่ากันว่า เป็นยอดคือ สีเขียวเข้มปานกลาง ถึงเขียวเข้มสดใสบริสุทธิ์ มีเหลือบเหลือง หรือน้ำเงิน เพียงเล็กน้อย และมีประกายที่ดูเหมือน มีความอ่อนนุ่มนวล เหมือนกำมะหยี่ และถ้าสี มีการกระจาย ราบเรียบ เสมอตลอดเม็ด มีมลทินน้อยมาก ก็จัดเป็น ยอดมรกตเลยทีเดียว แต่ที่กล่าวมานี้ หาได้ยากยิ่งกว่ายากเสียอีก ถ้ามี แล้วละก็ อาจจะมีราคาแพงกว่าเพชร ในชั้นคุณภาพ และขนาดเดียวกัน ลักษณะสีที่เขียวสดใส และมีประกายอ่อนนุ่ม เหมือนกำมะหยี่ ของมรกต ชั้นดี จะเพิ่มคุณค่า และราคาให้มรกตนั้นมากมาย ต่างกับรัตนชาติอื่น ที่ถึงแม้จะมีสีเขียว และมีความอ่อนนุ่มเช่นกัน ราคาของมันก็ไม่เพิ่ม ได้มากมาย เหมือนมรกต2.ความโปร่ง ความเป็นประกายสว่างสุกใสของมรกต โดยทั่วไป จะมีน้อย เมื่อเปรียบกับ รัตนชาติชนิดอื่น ๆ เช่น เพชร ทับทิม ไพลิน แต่ถ้ามรกตมีความโปร่งใสมากขึ้น ย่อมส่ง ผลให้ความมีประกายสดใสมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ดูมีสีสันมีชีวิตชีวามากขึ้น พวกที่มีความ โปร่งใสน้อย หรือโปร่งแสงจะทำให้สีดูทึมทึบ แต่ถ้าต้องเลือกเอาระหว่างสีที่ดี กับความ โปร่งสูง ควรจะเลือกเอาสีที่ดีไว้ก่อน3.มลทิน ตำหนิ โดยทั่วไปแล้ว มรกตมักจะมีตำหนิ และมลทินอยู่เสมอไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาให้ โดยเฉพาะกับมรกต มีมากกว่าทับทิม และไพลินเสียอีก ดังนั้นมรกตชั้นดีสีสวยไร้มลทินจะหายากมาก ซึ่งราคาจะสูง ตามความหายาก การเลือกดู มรกตสีสวยควรจะพิจารณาดูมลทินต่าง ๆ ซึ่งจะมีมากด้วยโดยดูว่ามลทินเหล่านั้น จะมีผลกระทบต่อความคงทน หรือความสวยงามของมรกตสีสวยที่ถูกใจนั้นหรือไม4.การเจียระไน จัดเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกซื้อเช่นกัน การเจียระไนเหลี่ยมมรกต ค่อนข้างจะทำได้ยาก ที่จะให้มีสัดส่วน สวยงาม สมดุล ซึ่งจะมีผลส่งให้มรกต มีประกาย สวยสดงดงาม ดังนั้น ควรจะพิจารณาอย่างละเอียด ดูความสมดุล สมบูรณ์ของหน้าเหลี่ยม เจียระไนต่าง ๆ ว่ามีความพอดี ลึก ตื้น สั้น ยาว เพียงใด ให้สีประกายออกมามากเท่าใด

เพทาย

เพทาย……. พบได้หลายสี แต่ที่สำคัญคือ สีแดงออกน้ำตาลและสีฟ้าใส ๆ แหล่งที่พบมีตั้งแต่ไทย ศรีลังกา กัมพูชา เพทายเป็นรัตนชาติที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดี เพราะความมีน้ำเป็นประกายสดใสดุจเพชร แต่มีเนื้อเปราะไม่ทนต่อแรงกระทบหรือแรงกด หรือแม้แต่การเสียดสีของพลอยซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ขอบมุมของพลอยที่เจียระไนแล้วยังแตกได้ง่าย
เพทาย หรือชื่ออังกฤษ คือ เซอร์คอน (Zircon) ทางประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เพทายจากไทย กัมพูชา ลาว) ปกติมีน้ำตาล ถึงน้ำตาลอมแดง พวกที่มีสีขาว หรือฟ้า หรือน้ำเงิน จะได้จากการเผา ส่วนเพทายที่มาจากทางศรีลังกาสามารถเจอสีเขียว สีเหลือง สีส้ม ได้ด้วยครับ พลอยเพทาย (Zircon) สีเขียว (Metamict) จากศรีลังกา เป็นที่รู้จักกันดีในวงการค้า ถ้าเปรียบเทียบกับสีอื่นของเพทาย (Zircon) แล้วถือเป็นสีที่ค่อนข้างธรรมดา ส่วนเพทายเขียว (Green Metamict Zircon) ที่มีปรากฏการณ์การเล่นสี (Play-of-Color) จะ พบน้อยมาก พลอยเพทายเขียว (Metamict) มีปรากฏการณ์การเล่นสีที่จะกล่าวถึงเม็ดนี้ มีเหลือบของปรากฏการณ์อะเวนจูเรส เซนส์ (Aventurescence) ซึ่งเกิดจากรอยแตกในเนื้อพลอยเป็นช่วง ๆ เนื่องจากมีการแตกกระจายของอะตอมในเนื้อพลอย ( Metamict)


ไข่มุก

ไข่มุกเกิดจากหอยมุกโดยตัวหอยจะสร้างวัสดุที่มีส่วนประกอบเป็นแร่แคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งมีลักษณะเป็นชั้นๆ เรียกว่า เนเคอร์ (Nacre) และมีความวาวเหมือนมุก เกิดหุ้มล้อมรอบวัตถุใดๆ เช่น กรวดทราย เศษหิน ฯลฯ ที่พัดหลง หรือถูกใส่เข้าไปในหอยแล้วทำให้เกิดความระคายเคือง ชั้นของเนเคอร์จะค่อยๆ สะสมตัวมากขึ้น จนเป็นไข่มุก ยิ่งชั้นเนเคอร์มีความหนามากขึ้นเท่าใด คุณภาพของไข่มุกจะดีมากขึ้นเท่านั้น ไข่มุกมี 3 ประเภทคือ ไข่มุกธรรมชาติ (Natural pearl) ไข่มุกเลี้ยง (Cultured pearl) และไข่มุกเทียม (pearl imitation) ไข่มุกธรรมชาติ และไข่มุกเลี้ยง จัดเป็นไข่มุกแท้ด้วยกันทั้งคู่ ต่างกันที่เกิดมาตามธรรมชาติ หรือเกิดโดยคนช่วยให้เกิด มีคุณสมบัติต่างกันเล็กน้อย เช่น ไข่มุกเลี้ยงมีความถ่วงจำเพาะ มากกว่าไข่มุกธรรมชาติเล็กน้อย ไข่มุกมีได้หลายสี โดยทั่วไปจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ขาว ดำ และสีแฟนซีต่างๆ เช่น แดง เหลือง ชมพู ม่วง ฟ้า เขียว เป็นต้น ไข่มุกธรรมชาติ และไข่มุกเลี้ยงที่มีคุณภาพดี จะมีสีเรียบ บริสุทธิ์ ขาวดั่งเงินยวง (silverly white) ชนิดสีขาวที่มีประกายเหลือบชมพู และชนิดสีดำที่มีประกายเหลือบสีเขียว เป็นที่นิยม และมีราคาแพง นอกจากนี้ยังต้องมีความวาวสูง มีความโปร่งแสงแบบกึ่งโปร่งแสง เนื้อมุกไม่มีตำหนิ มีรูปร่างกลม (นิยมมาก) มีขนาดโตพอสมควร (ขนาดโตหายาก ราคาแพง) และจะต้องมีชั้นเนเคอร์ (nacre) หนาการพิจารณาเลือกซื้อไข่มุก1. สี สีควรสะอาด เรียบเสมอ ไม่สกปรก มอซอ2. ประกายความวาว มีความวาวแบบมุก (pearly luster) สม่ำเสมอทั้งเม็ด3. ความโปร่ง กึ่งโปร่งแสงดีที่สุด ใสมากไปไม่ดี4. เนื้อมีตำหนิน้อยที่สุด เช่น รอยขูดขีด รอยแตกร้าว มีผิวเรียบเนียนเสมอตลอดทั้งเม็ด5. รูปร่าง ทรงกลมเป็นที่นิยมมาก รองลงมาเป็นรูปไข่ และหยดน้ำตา (อาจจะหายาก และแพงกว่าทรงกลม)6. ขนาด ขนาดใหญ่ราคาสูง ควรเลือกที่มีขนาดพอดี ที่สามารถเลือกได้หลายเม็ด ที่มีขนาดเท่าๆ กัน สำหรับจัดเข้าเป็นชุดทำต่างหู หรือสร้อยได้ สำหรับสร้อยมุกควรจะมีรูปทรง สี และขนาดที่เหมาะสมกลมกลืนเข้ากันได้ดี เช่น มีสีครีมประกายเหลือบชมพูเหมือนกัน รูปทรงกลมขนาดเท่ากันทุกเม็ด เป็นต้น รูที่เจาะสำหรับเชื่อมต่อกันด้วยเส้นใยต่างๆ ควรจะมีขนาดเล็กเรียบเสมอกันตลอดทุกเม็ดเช่นกัน7. ราคา ราคาไข่มุกขึ้นอยู่กับ ขนาด รูปร่าง สี ความเหมาะสมพอดีที่จะจัดเข้าคู่กัน อาจจะซื้อขายเป็นน้ำหนัก หรือขนาดก็ได้การดูแลรักษาเนื่องจากไข่มุกเป็นสารอินทรีย์ที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต ดังนั้นจึงควรนำไข่มุกให้ห่างไกลจาก สารเคมี กรด เครื่องสำอางค์ต่างๆ น้ำหอม เพราะจะทำให้สี และประกายหมอง ลดความสวยงามลงไปได้ นอกจากนี้ควรจะแยกเก็บไข่มุกไว้ต่างหาก จากเครื่องประดับรัตนชาติชนิดอื่น เพราะไข่มุกมีความแข็งไม่มาก อาจจะทำให้เกิดรอยขูดข่วน แตกร้าวได้ ควรเช็ดไข่มุกด้วยผ้าอ่อนนุ่ม หรือผ้าชุบน้ำมัน เพื่อเพิ่มความสวยงาม และอย่าวางไข่มุกใกล้บริเวณที่มีอุณหภูมิ หรือความร้อนสูงอาจจะทำให้สีเปลี่ยน หมองลง หรือแตกร้าวได้


เพชร
เพชรเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในทุกวันนี้ว่า นอกจากความหายากแล้ว เพชรจัดเป็น รัตนชาติที่มีคุณค่า และราคาสูง เพราะเพชรมีคุณสมบัติดีเด่นหลายประการ เป็นต้นว่า มีความแข็งมากที่สุด มีค่าดัชนีหักเหแสงสูง และมีค่าการกระจายแสงสีสูงอีกด้วย จึงทำให้เพชรที่เจียระไนสวยงามได้สัดส่วนมีประกายวาวเป็นพิเศษ มีการกระจายแสงสี หรือมีไฟสวยงาม เพชรที่มีคุณสมบัติเป็นรัตนชาติ มักจะเกิดเป็นผลึกที่มีความโปร่งใส มีหน้าผลึกครบสมบูรณ์ ผลึกของเพชรจะเกิดจากธาตุคาร์บอนเพียงอย่างเดียว และอาจเกิดได้ในหลายรูปร่างลักษณะ รูปแบบผลึกเพชรที่พบมากที่สุด จะเป็นรูปปิรามิด ฐานสี่เหลี่ยมประกบติดกัน มีแปดหน้า ผลึกรูปแบบอื่นๆ ที่พบ ได้แก่ รูปคล้ายสี่เหลี่ยมลูกเต๋า และรูปกลมคล้ายตะกร้อ และที่หน้าผลึกเพชร โดยเฉพาะหน้าที่เป็นรูปสามเหลี่ยม ของแบบ ปิรามิดแปดหน้า มักจะพบลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยมเล็กๆ เป็นร่องลึก ซ้อนกัน เข้าไปในเนื้อเพชรเล็กน้อย วางตัวในทิศทางกลับ กับสามเหลี่ยม ของหน้าผลึก เรียกว่า ไตรกอน (trigon)ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ในเพชรแท้เท่านั้น เพชรสามารถเกิดขึ้นได้มากมายหลายสี แต่ชนิดที่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยมากจะเป็นชนิดสีขาว หรือสีใสไม่มีสี และมักมีสีอื่นปนเล็กน้อย เช่น เหลือง น้ำตาล หรือเทา เพชรที่มีสีเข้มสวยเรียกว่าเพชรสี ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม แต่ว่ามีราคาสูง และหายากมาก เพชรสีได้แก่ เพชรสีชมพูอมแดง เขียว ส้ม เหลืองทอง ฟ้า ม่วง เป็นต้นการพิจารณาเลือกซื้อเพชร มีหลักเกณฑ์ 4 ประการ1.มีมลทิน หรือ ตำหนิ เพชรที่ดีจะต้องสดใสไร้มลทิน หรือไร้ตำหนิใดๆ ทั้งสิ้น จัดเป็นเพชรน้ำหนึ่ง แต่ถ้ามีตำหนิที่ผิวเล็กน้อย ซึ่งดูแล้วเห็นว่า จะเจียระไนออกใหม่ได้จัดเป็นระดับ ถ้าไม่ดีมีมลทิน หรือตำหนิเด่นชัดเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า และมีกระทบต่อความคงทน และความสวยงามพชรที่มีรอยแตกเล็กๆ เหมือนเส้นผม กระจายอยู่ทั่วไป จัดเป็นเพชรที่ไม่สมบูรณ์ ถึงแม้ จะมองไม่เห็น ด้วยตาเปล่า ราคาจะถูกลงมาก ส่วนเพชรที่ขุ่นมัว ไม่สุกใส ไม่มีประกาย ก็จัดเป็นเพชรที่มีคุณภาพต่ำ ด้วยราคาของเพชร จะลดหลั่นลงตามคุณภาพ ของมลทิน อย่างไม่สม่ำเสมอ2.สี ตามสากลนิยม เพชรที่ไร้สี ไม่มีสี (colorless) บริสุทธิ์ คือเพชรที่จัดว่ามีคุณภาพดีที่สุดแต่ความสามารถในการดูสี ความแหลมคมของสายตา และประสาทที่สัมผัสสีของแต่ละคน จะแตกต่างกัน สีของเพชรมีความสำคัญในการประเมิน คุณค่ารองลงมาจากมลทิน เนื่องจากเพชรที่ไร้สีกับเพชรที่มีสีปนเล็กน้อย จะแยกออกจากกันได้ด้วยตาเปล่าได้ยากมาก จะต้องมีมาตรฐานสีมาเปรียบเทียบ จึงจะมองเห็นความแตกต่างได้ เพชรที่ไร้สีบริสุทธิ์ แต่มีมลทินที่เห็นได้ชัดจะมีราคาถูกกว่าเพชรที่ไม่ไร้สีทีเดียว หรือน้ำไม่ขาวสนิทแต่สดใสไร้มลทิน3.การเจียระไน มีความสำคัญมาก เพราะถ้าเจียระไนดีจะนำเอาความสวยงามของเพชรออกมาให้เห็นเด่นชัด คนทั่วไปมักจะมองข้ามการเจียระไน แต่มุ่งความสนใจไปที่มลทิน และสี ความสวยงามของเพชรจะสมบูรณ์ต่อเมื่อเพชรนั้นมีการกระจายแสงที่ดี หรือที่เรียกว่า มีไฟดี มีความสุกใสสดใส มีประกายแวววับเข้าสู่ตา คุณสมบัติเหล่านี้จะพร้อมมูลต่อเมื่อเพชรนั้นมีการเจียระไนได้ถูกต้อง ได้สัดส่วน มีฝีมือประณีตเรียบร้อย ปัจจุบันเพชรจะมีการเจียระไน 58 เหลี่ยม ที่เรียกว่าเหลี่ยมเกสร หรือเรียกว่า brilliant cut ส่วนเหลี่ยมกุหลาบ หรือเรียกว่า single cut จะเจียระไน 36 เหลี่ยม แต่ไม่ค่อยมีไฟ และความสุกใสประกายวาวเท่าที่ควร ปัจจุบันมีการเจียระไนที่เรียกว่า russian cut ซึ่งก็คือเพชร ที่เจียระไน 58 เหลี่ยมนั้นเอง แต่สัดส่วนของการเจียระไนได้สัดส่วน มีขนาดโต๊ะ ขนาดบ่า ขนาดความลึกของก้น ตามสัดส่วนที่ได้วางมาตรฐานไว้ว่าจะให้ไฟ ความสุกใสประกายสวยงามที่สุด รวมทั้งความปราณีตของแต่ละหน้าแต่ละเหลี่ยมคมชัดสวยงาม เพชรที่เจียระไนแบบนี้จะมีราคาค่อนข้างแพง4.น้ำหนัก เพชรจะมีราคาแพงตามขนาดและจะมีค่าสูงตั้งแต่ 1 กะรัตขึ้นไปและค่าจะสูงมากขึ้นตั้งแต่ 5 กะรัตขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวประกอบ สี มลทิน การเจียระไนด้วย